บทที่ 2
การฝึกเป่าลายแคน
ลายแคน คำว่า “ ลายแคน” มีผู้รู้ได้กล่าวถึงความหมายของลายแคนไว้หลายอย่าง ผู้เขียนขอสรุปความหมายของลายแคนไว้ดังนี้ คือ ลายแคน หมายถึง“ทำนองเฉพาะดั้งเดิมของแคนที่มีการบรรเลงเป็นภาษาเสียงหรือสำเนียงพื้นบ้านของคนอีสาน” แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. ลายแคนทางสั้น มีจังหวะการบรรเลงที่เร็ว กระชับ เป็นลายแคนที่เป่าเพื่อแสดงถึงอารมณ์สนุกสนานรื่นเริง ได้แก่ ลายสุดสะแนน ลายโป้ซ้าย และลายส้อย(สร้อย)
2. ลายแคนทางยาวเป็นลายแคนที่เป่าแสดงอารมณ์โศกเศร้า คร่ำครวญเสียใจ เหงา หรือเปล่าเปลี่ยว เป็นการเป่าบรรยายเนื้อหาที่ค่อนข้างยาว เป็นการเป่าทางยาวที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกว่าเหมือนจะไม่จบง่าย หรือมีลักษณะเหมือนการไหลเอื่อยๆ ของน้ำในแม่น้ำ จึงมี ชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่ง “ลายล่อง” ซึ่งประกอบด้วย ลายใหญ่ ลายน้อย และลายเซ ดังจะกล่าวในรายละเอียดในการฝึกลำดับต่อไป
การฝึกเป่าลายแคนอีสาน ก่อนอื่นผู้ฝึกเป่าต้องมีทักษะพื้นฐาน การใช้ลมเป่าแบบต่างๆ ทั้งลมสั้นและลมยาว มีความมุ่งมั่น มีความคิดสร้างสรรค์ ขยันและอดทน เป็นคนที่ช่างสังเกตและจดจำได้ดี ทั้งนี้เนื่องจากการฝึกเป่าลายแคนจะมีความแตกต่างและสลับซับช้อนกว่าการเป่าในระดับพื้นฐาน ที่เน้นการเป่าตามโน้ตและเป่าเป็นเพลงเป็นส่วนใหญ่ แต่สำหรับการเป่าลายแคนอีสานนี้จะเน้นการจำทำนองลายแคนดั้งเดิมที่บรมครูแคนทั้งหลายในอดีตจดจำสืบต่อกันมา ซึ่งเป็นลายแคนแบบดั้งเดิมที่สะท้อนให้เห็นสภาพสังคม ชีวิต ความเป็นอยู่และวัฒนธรรมอันดีงามของคนอีสานเป็นอย่างดี ดังนั้น ผู้ที่จะเป่าลายแคนอีสานได้ดีจะต้องอาศัยไหวพริบปฏิภาณในการสังเกต และความสามารถในการจดจำลีลาทำนองลายแคนให้ได้ และจะต้องเป่าให้ได้เสียงแคนที่เป็นสำเนียงของคนอีสานจริงๆ จึง จะทำ ให้เสียงแคนหรือลายแคนนั้นๆ มีความไพเราะจับใจ ฉะนั้น การฝึกเป่าลายแคนในลำดับต่อไปนี้จะไม่เน้นความสำคัญของตัวโน้ต ตัวโน้ตเป็นเพียงแนวทางให้รู้จังหวะและทำนองของลายแคนเท่านั้น ความสำคัญของการเป่าลายแคนจึงอยู่ที่กลเม็ดเด็ดพรายและลีลาการเป่าที่จะทำให้เกิดอารมณ์ความซาบซึ้งในเสียงแคนที่เป็นสำเนียงของคนอีสานอย่างแท้จริง
การเป่าลายแคนพื้นบ้านอีสาน
การฝึกเป่าลายแคน ในอดีตกาลที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีหมอแคนที่มีชื่อเสียงซึ่งเป็นบรมครูแห่งเสียงแคนที่มีความสามารถ ในการเป่าแคนได้อย่างไพเราะ ยังมีอยู่จำนวนมากกระจายอยู่ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย รวมทั้งที่อยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวซึ่งบูรพาจารย์ทั้งหลายเหล่านั้นส่วนหนึ่งก็ได้กลับบ้านเก่ากันไปแล้ว คงทิ้งไว้แต่ลายแคนอันแสนไพเราะเพราะพริ้งไว้เป็นมรดกอันล้ำค่าแห่งวัฒนธรรมดนตรีของคนอีสาน เหลือไว้เพื่อให้บูรพาจารย์ผู้เป็นหมอแคนที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันได้จดจำและสืบทอดเป็นสำเนียงเสียงสวรรค์ที่ชื่อว่า “ลายแคน” เพื่อให้ลูกหลานผู้มีใจรักในดนตรีแคนได้ฝึกฝนเรียนรู้สืบไป ผู้เขียนในฐานะที่เป็นคนอีสานจึงขอเชิดชูบูชาบูรพาจารย์ทั้งหลายเหล่านั้นด้วยความเคารพยิ่ง และขอนำเอามรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่านี้มาเผยแพร่แก่เยาวชนและผู้สนใจได้ฝึกหัดเรียนรู้ ถึงแม้นผู้เขียนจะมีทักษะเพียงน้อยนิดเหมือนหิ่งห้อยบินตอมเสียงแคน แต่ก็มีความปรารถนาที่จะเผยแพร่สิ่งเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยและชาวโลกสืบไป
การเริ่มต้นฝึกเป่าลายแคน การสาธิตและเผยแพร่ลายแคนครั้งนี้ผู้เขียนได้ใช้แนวทำนองลายแคนที่เรียนจากครูแคนชื่อดังของเมืองไทยท่านหนึ่ง ชื่อ “ครูทองคำ ไทยกล้า” ซึ่งอดีตท่านเป็นครูภูมิปัญญาไทย และเป็นวิทยากรพิเศษอยู่ที่วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว ท่านเล่าให้ฟังว่าได้ฝึกเป่าแคนตั้งแต่อายุ 18 ปี โดยไปฝึกกับครูแคนที่ประเทศลาว ประมาณปี พ.ศ. 2500 ด้วยการช่วยงานทำนาทำไร่เป็นค่าตอบแทน(ค่าเล่าเรียน)สำหรับครูแคน เมื่อเรียนจบแล้วก็ได้เที่ยวแสดงในงานต่างๆ เรื่อยมาจนกระทั่งประเทศลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงได้กลับมาเมืองไทย และสุดท้ายได้รับเชิญเป็นวิทยากรพิเศษของวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด ผู้เขียนได้เรียนการเป่าแคนจาก “ครูทองคำ ไทยกล้า”ตั้งแต่อายุยังหนุ่ม ท่านได้สอนเป่าแคน ลายแคน และแนวทางในการถ่ายทอดความรู้ไว้อย่างหลากหลาย ดังนั้นเพื่อเป็นการบูชาพระคุณของบูรพาจารย์ทั้งหลาย ผู้เขียนจึงขอนำเอาลายแคนที่ได้รับการฝึกฝนมาถ่ายทอดเป็นวิทยาทานแก่เยาวชนและผู้สนใจทั่วไปเรียนรู้ตามลำดับขั้น ดังการฝึกในบทที่ 3 ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น